วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เกร็ดเล็กเกร็ดใหญ่ ศึกษาดูงานครั้งที่ ๓


เกร็ดเล็กเกร็ดใหญ่ ศึกษาดูงานครั้งที่ ๓ ท่าศาลา ขนอม สู่ดินแดนอันดามัน
เล่าเรื่องโดย นักศึกษาสุมณฑินี สมัครพงศ์
การศึกษาดูงานของนักศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้ถูกกำหนดขึ้นในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ จากการครั้งที่ ๑ ศูนย์การเรียนรู้ไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ วัดป่ายาง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๓ ในเส้นทางอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ ๔ ในเส้นทางอำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ระยะเวลา ๒ วัน ๑ คืนเหมือนที่ผ่านมา
ก่อนเดินทางคณะทีมงานก็ได้ร่วมกันประชุมวางแผน กำหนดกิจกรรม เส้นทาง จุดดูงาน ตลอดจนจุดนัดพบ แล้วแจ้งไว้ใน Longlearning Blogspot . com ซึ่งน้องเบริด์อภิวัฒน์ ไชยเดชกับพี่หมออิทธิเดช วิเชียรรัตน์ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นมา
วันเสาร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๑ นักศึกษาส่วนหนึ่งได้นัดพบกันที่ร้านโกปี๋ สาขาสี่แยก ท่าม้า ของโก้แอ้ดปรมาจารย์ร้านอาหารเมืองคอน ตามเวลานัดหมาย ๐๗.๓๐ นาฬิกา ผู้เขียนเองก็ปีกว่าๆที่ไม่ได้ไปเยือนขนอมเป็นเรื่องเป็นราว เพียงฉแว้บผ่านไปมา ตั้งนาฬิกาปลุกไว้หกโมงเช้า ด้วยความเป็นผู้หญิงหนึ่งชั่วโมงให้เวลาสำหรับตัวเองเสมอ เจ็ดโมงยี่สิบนาทีก็ถึงร้านโกปี๋ เป็นนิสัยที่ไม่ชอบให้ใครรอ พรรคพวกก็ได้ทยอยกันมาเรื่อยๆ เทคโนโลยี่สมัยใหม่โทรศัพท์มือถือใช้ในการติดต่อได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งแปดโมงครึ่งพวกเราก็เดินทางไปสมทบกับจุดที่สองปั๊มน้ำมัน ปตท. ท่าศาลา ออกเดินทางพร้อมกันเพื่อศึกษาดูงานเป็นจุดแรก เกิดการขลุกขลักในการประสานงานและเดินทางนิดหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงานย่อมมีถูกมีพลาด แต่คนที่ไม่ทำอะไรเลยย่อมไม่มีผิดไม่มีถูก แต่คุณค่าและคุณภาพของคนก็ไม่เกิด ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจสำหรับคนทำงานเสมอ และถือเสียว่าเป็นรสชาติของการเดินทาง
ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจุดแรกของการศึกษาดูงาน เมื่อไปถึงคณะทีมงานได้รอต้อนรับด้วยสีหน้า แววตาที่แสดงถึงความตั้งใจ และเต็มใจกับการมาเยือนของพวกเรา จากคำบอกเล่าของคุณเจริญ วัตตา รองประธานกลุ่ม เล่าถึงความเป็นมาว่าได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมาหน่วยงานของทางราชการได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์หลายหน่วยงานด้วยกัน ปีพ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้เริ่มจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน จนปัจจุบันเป็นธนาคารหมู่บ้าน สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
กลุ่มได้ยึดตามหลักแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการให้สมาชิกขยัน ประหยัด และออม ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อกิน เพื่อขาย โดยมีเป้าหมาย ให้ทุกคนอยู่ดี กินดี มีสุข รักษาสุขภาพ คิดสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ดี เพื่อชีวิตที่พอเพียง โดยแบ่งกิจกรรมที่ทำเป็น ๔ กลุ่มย่อย คือ กลุ่มพืชผักพืชผลปลอดสารพิษ กลุ่มกะปิ กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จากนั้นคุณเจริญยังเล่าต่อไปว่า ทางศูนย์จะไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะจะทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบไปยังระบบธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะผึ้งจะไม่อยู่เด็ดขาด ทางศูนย์จะทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพกำจัดศัตรูพืชใช้กันเอง ซึ่งทางนักศึกษาก็ได้ติดไม้ติดมือมาคนละขวดสองขวด ในเรื่องของการสืบสานศูนย์ไม่เป็นห่วงเพราะตอนนี้หนุ่มน้อยวัย ๒๗ ปีจบปริญญาตรีจากกรุงเทพฯ ก็ได้มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับทางศูนย์พัฒนาบ้านเกิดของตนเอง นักเรียนเยาวชนก็ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงาน ทำโครงงานมากมาย สุดท้ายคุณเจริญได้ทิ้งท้ายว่า หวังว่านักเรียนเยาวชนเหล่านี้จะได้รับการซึมซาบไปบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อจบการบรรยายและการชักถามของนักศึกษาแล้ว คณะนักศึกษาก็เดินเยี่ยมชมบริเวณศูนย์ ตั้งแต่การการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก การเลี้ยงผึ้ง แต่สิ่งที่พวกนักศึกษาตื่นเต้นก็คงจะเป็นลองกองช่อใหญ่ลูกโตเต่งตึงเหลืองนวลลออตาหลายช่ออวดโฉมอยู่บนต้น หลายคนก็ได้ถือติดไม้ติดติดมือ ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้มาเป็นเจ้าของ เสียงโทรศัพท์เร่งเร้าจากขนอมทำให้พวกเราไม่สามารถอ้อยอิ่งในบรรยากาศที่ร่มสบายได้อีกต่อไป คณะนักศึกษาและทีมงานจึงได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกัน กล่าวขอบคุณเจ้าภาพก่อนเร่งสตาร์สู่ขนอม ประตูสู่เมืองพุทธภูมิ และเมื่อถึงสามแยกทางเข้าก็ได้รับการต้อนรับจากโลมาสีชมพูด้วยลีลาที่เป็นมิตร น่ารักน่าเอ็นดู เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าพวกเราได้ย่างก้าวสู่แผ่นดินขนอมแล้ว ธรรมชาติที่สวยงาม อากาศที่บริสุทธิ์ ทำให้รู้สึกสดชื่นจนอยากจะเก็บอากาศเหล่านี้ใส่กระเป๋ากลับบ้านด้วย ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนอยู่ดี กินดี มีสุข มีให้เห็นตลอดเส้นทาง ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ยังอุดมสมบูรณ์เสียเหลือเกินในอำเภอขนอม จนประมาณสิบเอ็ดโมงคณะนักศึกษาก็ไปถึงจุดที่ ๒ ของการศึกษาดูงานของพวกเรา
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอ่าวหม่อมวัง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๔๖ หมู่ที่ ๑ ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช พี่สิริวิทย์ เสนเรือง พร้อมด้วยน้องอภิญญา สกุลรัตน์ ซึ่งเป็นนักศึกษาและเป็นเจ้าของท้องที่เจ้าภาพใหญ่ ได้รอคอยอยู่กับคณะนักศึกษาส่วนหนึ่ง ได้จัดทำเวทีไปล่วงหน้า ณ ที่นี้มีแขกผู้มีเกียรติของชุมชนมากหน้าหลายตาซึ่งได้เอ่ยนามไว้ในคำขอบคุณได้ให้เกียรติต้อนรับให้ความโดยเริ่มตั้งแต่การกล่าวต้อนรับโดยผู้อำนวยการโรงเรียนท้องเนียนคณาภิบาล ผอ.สุวัฒน์ คนซื่อ ตามด้วยผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย
ผอ.จำเริง ฤทธินิ่ม : กล่าวถึงเรื่องการศึกษากับชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำโฉ่ ผอ. กฤษฎา เพ็งจันทร์ : การศึกษากับองค์กรบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนครศรีธรรมราชและรองประธานกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขนอม คุณประวิก ขนอม : อำเภอขนอมกับการท่องเที่ยว นายกสมาคมอำเภอขนอม คุณอำพล เจนเศรษวัฐ : ธุรกิจกับการศึกษา และปิดท้ายด้วยประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม คุณวชิรพงศ์ สกุลรัตน์ : การอนุรักษ์แนวชายฝั่ง จากนั้นก็เปิดประเด็นให้นักศึกษาได้ซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนถึงเที่ยง และก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพิ่มเติมในวงอาหารเพิ่มเติมต่อไปอีก ต้องขอบอกและขอชมคณะผู้ทำอาหารซึ่งนำทีมโดยคุณอุทัย คุณเจริญ เสนเรือง ว่าอาหารอร่อยจริงๆ แม่บ้านเขากระซิบบอกว่าทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นเพราะกะปิและน้ำปลาของกลุ่มแม่บ้านหม่อมวังนั่นเอง น้ำพริก ปลาทูทอด ผักลวกราดด้วยกะทินิดๆที่จัดไว้ในจานอย่างสวยงาม ตามด้วยต้มกะทิหัวมะพร้าว เคียงข้างด้วยแกงไก่บ้านเหมงพร้าว และเมนูขึ้นโต๊ะ “เคยผัด” ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างเป็นนักชิมแต่ไม่มีที่ไหนจะอร่อยเท่าของขนอม เมื่อทุกคนอิ่มหนำสำราญ นักศึกษาก็ได้นั่งพูดคุยกับพี่น้องชาวขนอมเขาบอกด้วยความภาคภูมิใจถึงความเป็นขนอมในวันนี้ น้ำยังสวย ดินยังดี ป่ายังอุดม อากาศบริสุทธิ์ ที่สำคัญผู้คนจิตใจดี มีน้ำใจ อยากคุยต่ออีกนานๆ แต่ด้วยความจำกัดของเวลานักศึกษาต้องจัดเวทีกันต่อ วาดหวังในวันข้างหน้าคงได้มีเวลาพูดคุยกันมากกว่านี้
คุณป้าสดชื่น เสนเรือง ประธานกลุ่มเกษตรกรอ่าวหม่อมวัง ได้เล่าถึงการทำกะปิของกลุ่มแม่บ้านหม่อมวัง ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อจนถึงตนเอง ใช้การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้กะปิของกลุ่มอร่อย เก็บไว้ได้นาน ได้มาตรฐานผ่านการรับรองของ อย. กว่าจะถึงวันนี้ทางกลุ่มได้ใช้ความพากเพียรและอดทน จนกลายเป็นกะปิหม่อมวัง ที่โด่งดังและมีมาตรฐานการันตี นักศึกษาก็ได้แลกเปลี่ยนซักถามเป็นที่พอใจและครื้นเครงเป็นระยะๆ จากนั้นก็เป็นกรรมวิธีการทำน้ำปลาของกลุ่ม เป็นการทำน้ำปลาจากปลาไส้ตันจริงๆปลาจากทะเลสดๆ ผ่านการเลือกสิ่งเปื้อนปน การทำความสะอาด ใช้กรรมวิธีการหมักแบบธรรมชาติจนได้น้ำปลาที่ตักจากตุ่มจริงๆ ระยะกว่าจะได้ที่ อย่างน้อย ๑๒ – ๑๘ เดือน และผ่านการรับรองจาก อย. เช่นเดียวกัน จากนั้นคุณวชิรพงศ์ สกุลรัตน์พี่ชายของน้องอภิญญา สกุลรัตน์ ก็กล่าวบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาพร้อมด้วย ดร.สวัสดิ์ พุ้มพวง ซึ่งท่านได้ตามมาสบทบในเรื่องของการคงความอุดมสมบูรณ์ของขนอม การบุกรุกพื้นที่ของ นายทุน การสร้างความตระหนักและหวงแหนให้เกิดขึ้น การให้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรชายฝั่ง ช่วยกันพิทักษ์รักษาให้เป็นบ่อเกิดของทรัพย์ต่อไป กระทั่งสามโมงกว่าจึงเสร็จสิ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเวทีวันนี้ จากนั้นพวกเราก็ได้เดินทางไปดู “เจดีย์ปะการัง”

จากคำบอกเล่าของพี่สิริวิทย์ เสนเรือง ถึงเรื่องราวของเจดีย์ปะการัง “บริเวณอ่าวท้องเนียนมีเจดีย์ทรงลังกาสูงเด่นอยู่บนเขาริมอ่าวบนเขาวงจันทร์ ปัจจุบันยอดเจดีย์เจดีย์หักพังลงเหลือแต่องค์เจดีย์ทรงลังกามีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์ในศิลปะโปลนนารุวะของลังกา พ.ศ. ๑๘ – ๑๙ ทำด้วยปะการังธรรมชาติ น่าจะสร้างในสมัยพระพนมวัง ซึ่งพระอินทราชาเป็นผู้สร้าง ต่อมาได้เป็นที่บรรจุพระอัฐิ(กระดูก) ส่วนหนึ่งของพระพนมวังด้วย” ท้ายสุดพี่สิริวิทย์กล่าวทิ้งท้ายว่าเรื่องนี้คงต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป ณ ที่นี้พวกเราได้สัมผัสกับสายลมอ่อนๆ ทุกคนเดินชมรอบๆบริเวณ อธิษฐานขอพรซึ่งกันหลายคนรวมทั้งผู้เขียนด้วย จากนั้นก็ได้ถ่ายภาพรวมกันเป็นที่ระลึก แล้วเดินทางสู่ที่พัก อลงกตรีสอร์ท
อลงกตรีสอร์ท ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ริมฝั่งทะเลอันสวยงามลักษณะเป็นรูปโค้งไปจรดหาดคอเขา ฉะนั้นเมื่อตั้งกระเป๋าเข้าที่พักจึงไม่มีใครที่จะอยากนั่งอยู่ในห้อง พวกเราได้ออกมาเดินเล่นริมหาด ซึ่งวันนี้ลมช่างแรงเสียจริงๆ ในใจผู้เขียนจึงอดคิดไม่ได้ว่าโลมาสีชมพูจะออกมาอวดโฉมด้วยลีลาอันน่ารักให้เห็นหรือไม่ หลายคนก็ลงไปสัมผัสทรายอันละเอียดอ่อนริมทะเลสัมผัสละลอกคลื่น บ้างก็เป็นมือกล้องสมัครเล่นสนุกสนานกัน สักพักพี่รวมก็นำเข้าสถานที่เลี้ยงอาหารเย็นและจัดปาร์ตี้กลายๆ พวกเราก็ตั้งใจที่จะเดินเลียบชายฝั่งไปเรื่อยๆในเส้นทางหนึ่งกิโลเมตรกว่าๆด้วยความเย็นสบายของสายลม จนกระทั่งถึงหาดคอเขา พวกเราปาร์ตี้กันชายหาดมีการร้องเพลงสลับการเต้นรำ และการกล่าวต้อนรับจากแขกผู้มีเกียรติเป็นระยะๆ ผู้เขียนเองก็เมื่อยขาจากการเดินเก็บภาพแบบไม่ให้ตกหล่น แต่ทุกคนมีสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุขดูภาพเป็นหลักฐานได้ ลมก็ยังคงแรงเหมือนเดิมและแรงขึ้นเรื่อยๆแต่เราก็ยังสู้จนกระทั่งห้าทุ่มกว่า ลมก็แรงขึ้นกว่าเดิมและเห็นว่าได้เวลาอันสมควรเพราะพรุ่งนี้เรายังมีภารกิจในการศึกษาดูงานอีก เพลงจากกันแต่ไม่อำลาจึงได้เริ่มขึ้นจนกระทั่งจบลง ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับที่พัก ฟังเสียงคลื่นลมจนกระทั่งหลับใหลไปตามเวลา
ห้าโมงกว่าๆผู้เขียนแหวกม่านไปดูข้างนอกตั้งใจจะไปสวัสดีกับหาดทรายสักหน่อยปรากฎว่าลมแรงมากๆ และแดดปิด เลยนอนเล่นอยู่ในห้องหกโมงอาบน้ำแต่งตัว เจ็ดโมงจึงออกมานั่งเขียนกลอนบันทึกการดูงานสนุกๆด้วยอารมณ์อยากจะเขียน ทั้งที่เขียนไม่ค่อยเป็นด้วยซ้ำ แต่ก็อยากจะเขียนแล้วก็ใส่เอาไว้ในบล็อกด้วย มีนักศึกษาสาวหลายคนที่ใจสู้ลงเล่นน้ำทะเลกันอย่าง

สนุกสนาน มองไกลๆนึกว่าสาวสิบเจ็ด แปดโมงเราก็ออกจากที่พักไปทานอาหารเช้าที่ตลาดสี่แยกร้านของน้องนุช(น้องคะนึงนุช จุนแก้ว)และคณะแม่บ้าน ซึ่งน้องเขาได้ต้อนรับพวกเราตั้งแต่ตอนเที่ยง ตอนค่ำ และรุ่งเช้าอีกต้องขอบคุณทีมงานน้องเขาจริงๆ อาหารเช้าก็เป็นปลาท่องโก๋กรอบนอกนุ่มใน ข้าวเหนียวปิ้ง พร้อมด้วยน้ำชา กาแฟร้อนๆ ยามเช้าของตลาดสี่แยกไม่คึกคักมากนัก แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวให้เห็นอยู่ประปราย หลังจากอ้อยอิ่งในร้านน้ำชาพอสมควร คณะนักศึกษาจึงได้เดินทางดูไปศึกษาดูงานที่ศูนย์แพทย์แผนไทย บ้านเปร็ด ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศูนย์แพทย์แผนไทย บ้านเปร็ด ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณสุวณีย์ คุณจเรว์ ก๋งอุบล ได้เล่าถึงความเป็นมา และแรงบันดาลใจในการก่อเกิดแพทย์แผนไทย ทั้งที่ท่านยังยึดอาชีพเป็นข้าราชการครู สมาชิกในกลุ่มของม่านมีทั้งคนในชุมชนและนักเรียน ซึ่งนอกนวดแผนไทยแล้ว ยังมีอาหารเพื่อสุขภาพ มีสถานที่นั่งวิปัสสนา บรรยากาศรอบบ้านซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางกะด้วยสายตาไม่ต่ำกว่าห้าไร่ขึ้นไปเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ยืนต้น ซึ่งให้ร่มเงาร่มรื่นเย็นสบาย สงบ สะอาดสะอ้าน จากนั้นนักศึกษาน้องออย สุธารัตน์ ทรงสง่า ก็ได้สรุปถอดบทเรียนจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ พร้อมกับการทานขนมจีนไปด้วย เสร็จสรรพกล่าวคำอำลาและกล่าวขอบคุณเจ้าภาพและเดินทางไปร้านน้องนุชซึ่งได้เตรียมข้าวมันไก่บ้าน ข้าวหมูกรอบ ไว้ต้อนรับอีกละลอกด้วยความอร่อยหลายคนยังชิมอีกคนละจานสองจาน แล้วก็ถือโอกาสล่ำลากันที่ร้านน้องนุช จากนั้นได้เดินทางมาดูธุรกิจชุมชนพันธุ์ไม้ของน้องดำ ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้บล็อกซีเนียและจันทน์ผาไปคนละต้นสองต้น ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ คำถามที่ตามมาได้อะไรจากการศึกษาดูงาน ดั่งภาษิตที่ว่า “ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าทำเอง”
ขอขอบคุณ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ผอ. จำเริง ฤทธิ์นิ่ม/ ผู้อำนวยการโรงเรียนท้องเนียนคณาภิบาล ผอ.สุวัฒน์ คนซื่อ / ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาวันครู ผอ.อนันต์เผือกเนียม/ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำโฉ่ ผอ.กฤษฎา เพ็งจันทร์/ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าม่วง ผอ.วรศักดิ์ เพชรลิ / อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าม่วง ผอ.สวัสดิ์ บานโรย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองเหลง ผอ.สุนทร เพชรดี / นายกสมาคมอำเภอขนอม คุณอำพล เจนเศรษฐวัฐ / อดีตสมาชิกสภาจังหวัดและรองประธานกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขนอม คุณประวิก ขนอม / รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท้องเนียน คุณสรวิทย์ อินทร์สุวรรณ ประธานกลุ่มผู้สูงอายุตำบลท้องเนียน คุณประมูล เสนเรือง / ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอ่าวหม่อมวัง คุณสดชื่น เสนเรือง / ประธานกลุ่มขนอมร่วมพัฒนา คุณเทิดศักดิ์ อธิกมานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒,๓,๔,๕,๖,๗ และ๘ ตำบลท้องเนียน/ กำนันตำบลท้องเนียน คุณประชุมพล สุทธิช่วย / รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นครศรีธรรมราช คุณเกียรติศักดิ์ สุนทรมัฏฐ์ ประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม คุณวชิรพงศ์ สกุลรัตน์ และอีกหลายๆท่านที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ทั้งหมดที่กรุณาให้ข้อมูลและให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นอย่างดียิ่ง ขอบคุณพี่สิริวิทย์-พี่อำพัน เสนเรือง น้องอภิญญา สกุลรัตน์ ที่เป็นเจ้าภาพผู้ประสานงานทุกอย่าง และอาหารทุกมื้อจนการศึกษาดูงานลุล่วงสำเร็จตามเป้าหมาย ขอบคุณพี่หมออิทธิเดช วิเชียรรัตน์ น้องเบิร์ดอภิวัฒน์ ไชยเดช น้องวุฒิ น้องแพร พี่สมเดช ปลอดทองสม น้องพยอม ยางแก้ว คุณศิวพร สีดำ พี่สวัสดิ์ คุณสุมณฑินี สมัครพงศ์ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อเครื่องดื่ม ขอบคุณดินแดนขนอมที่ให้ทั้งอาหารกายอาหารใจ โอกาสหน้าขอพบกันอีก